top of page

บริการการวางแผนทางการเงินที่ท่านจะได้รับจาก iPlanWealth


การวางแผนการเงินส่วนบุคคล คือการสร้าง ใช้งาน ปรับปรุง และแก้ไข แผนงานเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายการเงินของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ โดยแนวคิดของแผนเน้นถึงเป้าหมาย นับตั้งแต่จุดแรกเริ่มของการวางแผนการลงทุน มากกว่าการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบใดแบบหนึ่งหรือมากกว่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเงินบางปัญหาเท่านั้น

การวางแผนทางการเงิน (Financial Planning)

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการวางแผนทางการเงินคือการซื้อของ เช่น ซื้อทอง ซื้อกองทุน ซื้อหุ้น หรือซื้อประกัน แต่จริงๆแล้ว การวางแผนทางการเงิน ไม่ใช่การซื้อของ แต่คือ "วิธีการจัดสรรเงินและบริหารเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน (Financial Goals) ได้ตามที่ต้องการ"


ทำไมเราต้องวางแผนการเงินกันล่ะ?


สาเหตุหลักที่เราต้องวางแผนการเงินเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันที่น้อยมากจนไม่สามารถโตตามเงินเฟ้อได้ทัน ทำให้ค่าเงินของเราลดลง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับสินค้าการเงินที่มีหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องมีการจัดสรร และบริหารเงินว่าจะเอาเงินวางไว้ที่ไหนที่จะได้ผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ นอกจากนี้แต่ละคนยังมีเป้าหมาย สถานะ และ Lifestyle ที่แตกต่างกัน บางคนอยู่ในวัยเพิ่งเริ่มทำงาน อยากมีเงินเก็บ อยากลงทุน บางคนเพิ่งสร้างครอบครัว มีลูก อยากสร้างความอุ่นใจให้ครอบครัว อยากมีเงินเก็บเพื่อให้ลูกได้เรียนสูงๆ บางคนทำงานมานาน อยากได้ความมั่นคงในอนาคต อยากมีเงินใช้เพียงพอยามเกษียณ


เพราะฉนั้น การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องส่วนบุคคล (Personal Financial planning) ที่จะวางแผนเพื่อตอบโจทย์ ความต้องการ และเป้าหมายในชีวิตของคนแต่ละคนโดยเฉพาะ นักวางแผนการเงินสามารถช่วยคุณได้นะค่ะ  นักวางแผนการเงินจะทำหน้าที่ค้นหาเป้าหมายทางการเงินของคุณ เช่น มีเงินเท่าไหร่ถึงพอเกษียณอายุ ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ถึงจะพอส่งลูกเรียนต่างประเทศ แล้วจัดหาสินค้าทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่คุณต้องการ


รู้อย่างนี้แล้วคงไม่มีใครไม่อยากวางแผนการเงิน เพราะการวางแผนการเงินคือการวางแผนชีวิตนั่นเอง วันนี้คุณพร้อมที่จะเริ่มวางแผนทางการเงินกันหรือยังค่ะ


รสสุคนธ์ วราเศรษฐ์
FChFP

การวางแผนการปกป้องรายได้ครอบครัว (Income & Family Protection)

ความไม่แน่นอนอาจจะเกิดขึ้นกับทุกชีวิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับคนที่เรารัก โดยเฉพาะความสูญเสียบุคคลผู้เป็นกำลังหลักในการหารายได้ให้กับครอบครัว แต่รายจ่ายของครอบครัวนั้นยังคงเดิม การวางแผนปกป้องรายได้ครอบครัวเป็นการจัดการความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง โดยโอนย้ายความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นรับผิดชอบแทน ความเสี่ยงนั้นยังคงมีเหมือนเดิมเพียงแต่เป็นการเตรียมการไว้ช่วยแบ่งเบาความเสียหาย นักวางแผนทางการเงินจะช่วยท่านวิเคราะห์ความจำเป็นทางการเงิน (The Financial Need Analysis) พิจารณารายละเอียดรอบด้านทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ทราบถึงความต้องการทางการเงินที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครอง บุคคลใดที่ได้ทำการวางแผนปกป้องรายได้ครอบครัว จะทำให้เกิดความรู้สึกหนึ่งที่เรียกว่า "ความสงบทางใจ (Peace of Mind)"

วันชัย กวินจรัสรัชต์
 

การวางแผนสร้างความคุ้มครองสุขภาพ (Health Insurance)

“ประกันสุขภาพต้องเคลมถึงจะคุ้ม? แค่คิดก็ผิดแล้ว”
ความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการที่ถูกต้อง ของการทำประกันสุขภาพ คือการคิดว่า ทำแล้ว “คุ้ม” หรือ “ไม่คุ้ม” ครับ ความผิดเพี้ยนจะมาในรูปแบบของการสมมติว่า จ่ายเบี้ยประกันไปแล้วกี่ปี ถ้าได้เคลม หรือไม่ได้เคลม จะคุ้มเงินหรือไม่

การทำประกันสุขภาพ เป็นการ “โอนความเสี่ยง” ไม่ใช่ “การลงทุน” ดังนั้น เราไม่สามารถคำนวณได้ครับว่ามันจะคุ้มหรือไม่ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าความเสี่ยงเกิดขึ้นเมื่อไหร่

การคำนวณว่า จ่ายเบี้ยไปแล้วเท่าไหร่ ถ้าเคลมจะได้เงินกลับมาคุ้มไหม เก็บเงินไว้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองคุ้มกว่าไหม ยิ่งหลงทาง ยิ่งผิดหลักการครับ เพราะคำถามที่เกิดขึ้นคือ “แน่ใจหรือไม่ว่า เงินที่เก็บไว้ ณ ขณะนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต”
การทำประกันสุขภาพหรือการโอนความเสี่ยงคือการ “ซื้อของ” ครับ

การซื้อของที่ว่าคือการซื้อ “ความปลอดภัย” ให้แก่ทรัพย์สินหรือพอร์ทการเงินที่แต่ละบุคคลจัดสรรเงินไปลงทุน ไปเก็บออม ไปใช้จ่ายในที่ต่างๆ
ซึ่งค่าความปลอดภัยที่เราต้องจ่ายก็คือ “เบี้ยประกัน” นั่นแหละครับ คำนวณไปเลยว่า ปีนี้ เราจ่ายเบี้ยประกันจ่ายทิ้งไปเท่านี้ ไม่คิดหวังที่จะป่วยเพื่อให้ได้เคลม แต่ถ้าโชคร้าย มีการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเบาหรือรุนแรง เราจะมีคนรับผิดชอบ ไม่ต้องดึงเงินจากบัญชีออมทรัพย์ ไม่ต้องขายคืนหน่วยลงทุนหรือหุ้น ไม่ต้องไปเอาเงินที่เก็บไว้ซื้อรถ ซื้อบ้าน เพื่อตนเองเรียนต่อ เพื่อให้ลูกเรียน เพื่อเกษียณ ฯลฯ มาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล

การที่บุคคลจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพไปหนึ่งปี โดยที่ไม่ได้เคลม ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้แปลว่าเขาเสียเงินไปเปล่าๆ แต่เขาได้ “ความปลอดภัย” ของทรัพย์สินในปีนั้นๆไปแล้วครับ แล้วก็คิดเป็นปีต่อปีไป ไม่ต้องมาเก็บสะสม ขึ้นปีใหม่ก็ซื้อใหม่ หรือไม่ซื้อก็ตามแต่จะตัดสินใจ
มันเหมือนเป็นการซื้อสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่ทุกวันนี้ เราซื้อสิ่งที่เป็นนามธรรมกันเรื่อยๆในชีวิตประจำวันอยู่แล้วครับ
เช่น ทำไมเรานั่งแทกซี่ แทนที่จะนั่งรถเมล์ นั่นก็เพราะเพื่อ “ความสะดวกสบาย” และ “ความรวดเร็ว” เพียงแต่สิ่งเหล่านั้นมันได้รับ ณ ขณะนั้นและรับรู้ได้ แต่ “ความปลอดภัย” มันเป็นเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งคนที่จะตระหนักและรับรู้ได้ถึงคุณค่าของ “ความปลอดภัย” จะมีเฉพาะคนที่ “ไม่ประมาท” เท่านั้นครับ

ถ้าให้ยกตัวอย่าง เช่น บุคคลหนึ่งมีรายได้ 1,000,000 บาทต่อปี เขาจัดการความเสี่ยงได้ 2 กรณีคือ (ทั้งหมดเป็นเลขสมมตินะครับ)

1. ทำประกันสุขภาพ 30,000 บาทต่อปี (หรือ 3% ของรายได้) มีเงินเหลือ 970,000 บาท (หรือ 97% ของรายได้) และยอมจ่าย 3% ของรายได้ทุกปี เพื่อการันตีว่า 97% ของรายได้ทั้งหมด เขาสามารถที่จะนำไปใช้ ลงทุน เก็บออม จับจ่ายใช้สอย ได้ตามวิถีชีวิตและวิถีทางของเขาอย่างแน่นอน ทุกๆปี

2. ไม่ทำประกันสุขภาพ และต้องการเงินทั้งหมด 1,000,000 บาทต่อปี และนำเงินไปใช้ ลงทุน เก็บออม จับจ่ายใช้สอย ตามวิถีชีวิตและวิถีทางของเขา แต่เมื่อเกิดเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ก็ค่อยวัดระดับความรุนแรงเอาครับ ว่ามันจะกระทบกับเงินออม เงินลงทุน เงินที่จะต้องกินใช้น้อยลง เพื่อมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง มากน้อยแค่ไหน เงิน 1,000,000 บาทในปีที่เกิดเหตุนั้น จะถูกดึงไปใช้เท่าไหร่ และจำเป็นจะต้องไปดึงเงินในปีก่อนหน้าแต่ละปีมาใช้ด้วยหรือไม่

ทั้งสองวิธีนี้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบุคคลนั้น พอใจในการรับความเสี่ยงแบบไหน
สำหรับข้อ 1 ต้องพิจารณาให้ดีว่าการจ่ายเบี้ยประกันนั้น เหมาะสมกับพอร์ทการเงินและวิถีการดำเนินชีวิตหรือไม่
ส่วนข้อ 2 สิ่งที่อันตรายไม่ใช่แค่เรื่องของความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้น แต่ที่อันตรายกว่าคือสัญชาตญาณการเข้าข้างตัวเองของมนุษย์ ที่มักคิดว่าใช้ช่วงชีวิตของตน หากเจ็บป่วยก็ป่วยน้อย หากเกิดอุบัติเหตุก็เป็นแค่อุบัติเหตุเล็กๆ ไม่มีโอกาสที่ตนจะพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต
การตัดสินใจนั้นจะขึ้นอยู่กับแผนทางการเงินของแต่ละบุคคลครับ


 

การวางแผนทุนการศึกษา (Education Planning)

ถ้าคุณพ่อคุณแม่จะให้ของขวัญลูกสักชิ้นหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่คงอยากให้ลูกเรียนหนังสือสูงที่สุดเท่าที่ลูกจะสามารถเรียนได้ ในหลักการวางแผนทางการเงิน การวางแผนทุนการศึกษา (Education Planing) ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น (Serious) เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกมีอนาคตที่ดี กว่าลูกคนหนึ่งจะเรียนจบปริญญาตรี โท หรือเอก คงต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้าเรียนโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนนานาชาติ หรือเรียนต่างประเทศ ก็ยิ่งใช้เงินหลายล้านบาท วันหนึ่งถ้าลูกของคุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนหรือต่างประเทศต้องใช้เงินหลายล้าน  คุณพ่อคุณแม่คงรู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะช่วงที่ลูกเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นช่วงใกล้เกษียณอายุของคุณพ่อคุณแม่ด้วย ไหนจะต้องเตรียมเงินสำหรับการเกษียณอายุของคุณพ่อคุณแม่เองและจะต้องเตรียมเงินสำหรับทุนการศึกษาลูกอีก ...จะดีกว่าไหมครับถ้าวันนี้เราจะเริ่มวางแผนทุนการศึกษาสำหรับของลูกตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องใช้เงินสำหรับการศึกษา คุณพ่อคุณแม่จะได้สบายใจว่ามีเงินเพียงพอสำหรับอนาคตที่ดีของลูกอย่างแน่นอนครับ

 

วิโชค อนุรักษ์วงศ์ศรี
FChFP

การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ (Retirement Planning)

คนวัยหนุ่มสาวคิดว่าเรื่องการวางแผนการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว คนไทยในปัจจุบันจะมีอายุยืนเฉลี่ยประมาณ 78 ปี แม้คนส่วนใหญ่จะวางแผนเกษียณอายุที่ 60 ปี แต่เราก็ควรคิดไว้เสมอว่า  โอกาสเกษียณก่อนกำหนดนั้นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งมีทั้งแบบสมัครใจและไม่สมัครใจ  เราจะต้องทำอย่างไร เราจะมีรายได้จากไหนมาใช้จ่ายในอีก 20 - 30 ปีหลังเกษียณเพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว แต่ยังคงมีรายจ่ายจากการดำรงชีวิตอยู่ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เราอาจต้องพึ่งตนเองมากกว่าจะมุ่งหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูได้

เกษียณแล้ว….. ควรมีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้คือ ท่านคิดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณอีกกี่ปี จะใช้เงินหลังเกษียณเดือนละเท่าไหร่  และต้องการเหลือทรัพย์สินส่งให้ทายาทหรือสาธารณกุศลมากน้อยเพียงใด อีกอย่างที่ควรต้องคำนึงถึงคือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสี่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะเราไม่สามารถประมาณการหรือวางแผนได้ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไร เราจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำไม่ว่าจะเป็นการตัดงบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือเพิ่มเงินออมด้วยการทำงานนอกเวลาและอี่นๆ


หากมีการวางแผนที่ดีและเริ่มต้นเร็ว ก็ย่อมบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่า หากวันนี้คุณยังไม่ได้เตรียมแผนการเงินเฉพาะตนเอง ก็คงจะต้องรีบวางแผนนับแต่วันนี้ เพราะคุณคงไม่อยากให้วันเกษียณอายุที่จะมาถึงกลายเป็นฝันร้ายแทนที่จะเป็นวันอันแสนสุข

 

รชาภา กิตติภัทราสุข
FChFP

การวางแผนภาษี (Tax Planning)

"In this world nothing can be said to be certain, except death and taxes ในโลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอนกว่า ความตายและการจ่ายภาษี" เบนจามิน แฟรงคลิน รัฐบุรุษและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกาได้กล่าวไว้ ภาษีซึ่งเป็นสิ่งที่เราท่านรู้ว่า คือความแน่นอน เพราะตั้งแต่เกิดจนถึงตายทุกคนต้องจ่ายภาษี (เว้นแต่หนีภาษีหรือเลี่ยงภาษี) การวางแผนภาษี (Tax Planning) คือการหาแนวทางการประหยัดภาษีโดยชอบด้วยกฏหมายไม่ใช่การหลบภาษี (Tax Evasion) คือ การหนีภาษีที่เป็นการทำผิดกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เราท่านต้องจ่ายให้ก้บรัฐบาลถือเป็นค่าใช้จ่ายท่ีต้องถูกหักภาษี ณ.ที่จ่าย ทุกเดือนจากบัญชีเงินเดือน ภาษีเป็นค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามเงินได้พึงประเมินยิ่งมีรายได้มากก็จะเสียภาษีมาก บางท่านทำงาน 1 ปี หรือ 12 เดือนแต่จะมีรายได้แค่11เดือน เพราะ รายได้1เดือนจะเป็นภาษีที่ต้องจ่าย จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนภาษีที่เราจ่ายกลับมาเป็นเงินได้ เปลี่ยนรายจ่าย กลับมาเป็นเงินออม คำตอบคือ ”การวางแผนภาษี”

กิตติพงษ์ ชื่นปรีชาชาญ
FChFP

การวางแผนการลงทุน (Investment Planning)

เคยไหมครับที่หลายครั้งเราออมเงินเพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่าง เมื่อถึงเวลาที่เราออมเงินได้ครบ เป้าหมายนั้นก็ได้บินหนีเราไปไกลแล้ว สาเหตุคืออะไร? ใช่ครับ ผมหมายถึง "เงินเฟ้อ" ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเงินออม แถมในยุคนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารก็ยังน้อยนิด แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ทำอย่างไรเราถึงจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินของเราได้? ทำอย่างไรเราถึงจะเอาชนะเงินเฟ้อได้? ทำอย่างไรถึงจะได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากธนาคาร คำตอบคือ "การวางแผนการลงทุน"แต่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการลงทุนมีมากมายไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร ทองคำ น้ำมัน ที่ดิน คอนโด กองทุนต่างๆ แล้วเราจะเริ่มอย่างไรดีล่ะ
 

นักวางแผนการเงินสามารถช่วยท่านวางแผนการลงทุนโดยคำถึงปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นอายุผู้ลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อจะได้จัดพอร์ทการลงทุน (Asset Allocation) และคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน รวมทั้งทบทวนและปรับเปลี่ยนพอร์ทการลงทุนให้เหมาะสมกับทุกช่วงอายุและสถานะการณ์ที่เปลี่ยนไป
 
การวางแผนการลงทุนเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เงินออมของเรางอกเงย เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินสำหรับการเกษียณอายุ การท่องเที่ยวรอบโลก หรือการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ


พศิษฐ์ พิพิธดิศพงษ์
FChFP

การวางแผนมรดก (Estate Planning)

ถ้าวันนี้คุณเป็นคนหนึ่งที่มีทรัพย์สินมากมาย คุณแน่ใจได้อย่างไรว่า วันหนึ่งทรัพย์สินเหล่านั้นจะถูกส่งมอบให้กับคนที่คุณรักได้อย่างที่คุณตั้งใจ


การวางแผนมรดก เป็นคำตอบที่จะช่วยคุณได้ และมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะในอดีตที่ผ่านมามีหลายครอบครัวประสบปัญหาไม่ได้วางแผนล่วงหน้า เมื่อหัวหน้าครอบครัวจากไป ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว และที่สำคัญก็ยังไม่ทราบว่าทรัพย์สินมีอยู่เท่าไหร่และที่ใดบ้าง ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องรวบรวมและบันทึกทรัพย์สินเหล่านั้น และวางแผนต่อไปว่าจะส่งมอบทรัพย์สินให้กับใครบ้าง 


ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีใครเชื่อว่าภาษีมรดกจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ในขณะที่ต่างประเทศมีมานานมากแล้ว และบางประเทศเสียภาษีมรดกสูงถึง50%ของมูลค่าทรัพย์สิน เช่นที่ประเทศอังกฤษ ล่าสุดประเทศไทย ยุครัฐบาลคสช. สนช.ได้มีมติผ่านร่างพรบ.ภาษีมรดกเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีพ.ศ.2558  เมื่อภาษีมรดกประกาศใช้จะมีภาษีเพิ่ม 2 ฉบับคือ

1. ภาษีการรับการให้ คือเมื่อโอนทรัพย์สินให้ทายาทตอนมีชีวิตอยู่จะยกเว้น 20 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินผู้ให้จะเสียภาษี 5%

2. ภาษีมรดก ถ้าโอนมรดกให้หลังจากเจ้ามรดกเสียชีวิตผู้รับมรดกได้รับการยกเว้น 100 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินจะเสียภาษี 5% จากนี้ไปเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนมรดก และเตรียมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อนำมาเสียภาษีมรดกด้วย เมื่อถึงเวลานั้นจะได้มีเงินเพียงพอสำหรับเสียภาษีมรดก


นักวางแผนการเงิน สามารถช่วยท่านวางแผนมรดก ช่วยวิเคราะห์ทรัพย์สินว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวหรือสินสมรส ช่วยรวบรวมทรัพย์สิน แสดงรายละเอียดทายาทตามกฎหมาย เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียระหว่างการจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิตหรือจัดการมรดก และแนะนำแนวทางการจัดมรดกที่เหมาะสมให้กับท่าน


ถ้าหากคุณมีการวางแผนมรดกที่ดี จะทำให้ทรัพย์สินถูกส่งมอบให้กับคนที่คุณรักอย่างที่คุณตั้งใจและลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว


มณฑกราน ยงไพศาล
FChFP

bottom of page